วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สุภาษิตคำคม

  1.  หนทางไปสู่ความยิ่งใหญ่ ย่อมต้องฟันฝ่าอุปสรรค
  2.  โอกาสทำชั่วเกิดขึ้นได้ง่ายทุกเวลา
  3. ถูกมองอย่างอิจฉา ดีกว่าถูกมองอย่างสมเพช
  4. ของดีมีค่าต้องค้นหาจึงจะเจอ
  5.  ฆ่ามังกรยังง่ายกว่าดับตัณหาในตัวเอง
  6. การฝึกฝนอยู่เสมอทำให้เกิดความชำนาญ
  7.  อย่าให้ความเกียจคร้านเป็นอุปสรรคในการทำงาน
  8.  ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อยู่ที่กำลังใจและปัญญา
  9.  ไม่มีใครได้อะไรโดยไม่ต้องลงทุน
  10.  ความสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะความเพียร
  11.  วัวหายล้อมคอก (สายเกินแก้)
  12.  เป็นใหญ่ในที่เล็กดีกว่าเป็นเล็กในที่ใหญ่
  13.  แม้มีน้อยด้อยค่ายังดีกว่าไม่มีเลย
  14.  อย่าจับปลาสองมือ อย่าเหยียบเรือสองแคม
  15.  ผู้ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคจึงจะประสบความสำเร็จ
  16.  อย่าตัดสินสิ่งใดเพียงภายนอกที่มองเห็น
  17.  อย่าหวังน้ำบ่อหน้า อย่าตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ
  18.  อย่าตำหนิคนอื่นเขา ในเมื่อตัวเราก็ไม่ต่างกัน (ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง)
  19. อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า (ให้คำแนะนะได้แต่ไม่สามารถบังคับให้ทำตามได้)
  20.  (แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง) หน้าไว้หลังหลอก
  21.  ความเป็นคนไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้า ความเป็นราชาไม่ได้อยู่ที่มงกุฎ
  22. อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน อย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ (อย่าหาเรื่องใส่ตัว)
  23.  อย่าด่วนสรุปความก่อนฟังเหตุผลให้ถ้วนถี่
  24.  รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
  25.  จงหาวิธีง่ายที่สุดในการแก้ปัญหา
  26.  จงพอใจในสิ่งที่มีอยู่
  27.  อย่าตีตนไปก่อนไข้
  28. นกน้อยทำรังแต่พอตัว
  29. ค่าของคนอยู่ผลของงาน
  30. อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่
  31.  อย่าห่วงเลยถ้าต้องไปอย่างช้าช้า ที่น่ากลัวมากกว่าก็คือหยุดอยู่กับที่
  32. ตบมือข้างเดียวไม่ดัง
  33.  คนที่ปราศจากความสุขก็คือคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีความสุข (สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจ)
  34.  ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการแก้ไข้
  35.  แตงโมเลื้อยไปแตงไทเลื้อยมา
  36.  เรื่องใหญ่จบง่ายกว่าเรื่องเล็ก
  37.  ประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้วิสัยทัศน์กว้างไกล
  38.  กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ (สายเกินแก้)
  39.  เมื่อหมดอำนาจวาสนา คนนำพาก็ลาจาก
  40. (อย่าเอาเรื่องในบ้านไปเล่านอกบ้าน) อย่าสาวไส้ให้กากิน
  41.  อย่าขู่ใครเขาถ้าเราไม่แน่จริง
  42.  น้ำขึ้นให้รับตัก
  43.  ตัดไฟแต่ต้นลม
  44.  ไม่มีกุหลาบใดปราศจากหนาม ไม่มีความสำเร็จใดที่ปราศจากอุปสรรค
  45.  มากหมอมากความ
  46.  วันพระไม่มีหนเดียว (ทุกคนย่อมมีโอกาสเสมอ)
  47.  ความสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะความเพียร
  48.  กว่าจะรู้ค่าสิ่งที่มีอยู่ก็สายเสียแล้ว
  49.  ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน (ไม่ใช่ที่คำพูด)
  50.  ถ้าจะเล่นไฟก็ไม่ควรกลัวควัน (สุขกับทุกข์เป็นของคู่กัน)
  51.  ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน
  52.  อย่าตั้งความหวังไว้กับสิ่งเดียว (พลาดพลั้งจะเหมือนนกปีกหัก)
  53. ยามรักจืดจางก็มองเห็นแต่ข้อเสีย (ของกันและกัน)
  54.  จงพิจารณาตนเองก่อนไปตัดสินคนอื่น
  55.  ยามเมื่อเรามีสัมพันธ์ภาพที่ดีต่อกันแม้น้ำก็ยังหวาน
  56.  เรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่ใส่ใจระมัดระวัง
  57.  คนมีความรู้น้อยเปรียบดังกบในแอ่งน้ำขังที่มันคิดว่านั่นคือทะเล (กบในกะลา)
  58. ปิยะวาจาและความเมตตาชนะทุกสิ่ง
  59.  จงสู้กับคนชั่วด้วยวิธีอหิงสา
  60.  จงรักเพื่อนบ้านแต่ต้องมีขอบเขต
  61.  ยอมโง่ห้านาทีเพื่อถามสิ่งที่ไม่รู้ดีกว่าไม่ถามแล้วโง่ตลอดชีวิต
  62.  ชีวิตคงต้องดิ้นรนเรื่อยไป ถ้าไม่รู้จักคำว่า “พอ”
  63.  อย่ากินบนเรือน แล้วถ่ายบนหลังคา
  64.  วิจารณ์ง่ายกว่าลงมือทำ
  65.  ยามร่ำรวยเปรียบดังพระยา หมดวาสนาก็เหมือนไส้เดือน กื้งกือ
  66.  คนฉลาดมากพูดน้อย คนฉลาดน้อยพูดมาก
  67.  ถ้าไม่คิดทำอะไรเอง ก็ต้องเป็นผู้ตามเรื่อยไป
  68. อย่าดูถูกสิ่งเล็กน้อยว่าด้อยค่า ทุกอย่างมีราคาในตัวเอง
  69.  ยามทุกข์ยากจึงรู้ว่าใครคือเพื่อนแท้
  70.  คนอวดเก่งมักถึงหายนะในที่สุด
  71.  เหนือฟ้ายังมีฟ้า
  72.  พอเหล้าเข้าปาก ความยากก็หายไป
  73.  จงแสวงหาคำแนะนำแต่ตัดสินใจด้วยตัวเอง
  74.  เตะก้อนหินเวลาโกรธ จะเจ็บเท้าตัวเอง (การทำอะไรเมื่อขาดสติ จะเสียใจภายหลัง)
  75.  การพูดอะไรเวลาโกรธ อาจทำลายชีวิตทั้งชีวิต (จงมีสติ)
  76. ไม่มีอะไรจะเลวร้ายยิ่งกว่าคนที่คอยแต่จะหาเรื่องทะเลาะวิวาท
  77.  หน้าเนื้อใจเสือ (ปากปราศัยน้ำใจเชือดคอ)
  78.  รูปกายภายนอกไม้ได้บ่งบอกถึงความสามารถ
  79.  จิตใจที่แข็งแรงสามารถชนะอุปสรรคทั้งมวล
  80. อย่าตั้งความหวังไว้สูงเกินความสามารถของตน
  81.  ความงามที่ไร้คุณค่าเปรียบดังดอกไม้ที่ปราศจากกลิ่นหอม
  82. หนามยอกเอาหนามบ่ง
  83. เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
  84.  แม้แต่ปลาก็ไม่เดือดร้อนถ้าไม่อ้าปาก (ปลาหมอตายเพราะปาก)
  85.  ไม่มีอะไรไกลเกินฝัน ขอพียงเชื่อมั่นเมื่อก้าวไป
  86.  ความร่ำรวยที่แท้จริงคือพอใจในใงที่มีอยู่
  87.  ความวิตกกังวลทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่
  88. ไม่ควรเสียเวลาเสวนากับคนที่ไม่นับถือเรา
  89.  อย่าวิจารณ์คนอื่นเขาถ้างานยังไม่เสร็จ
  90.  อย่าทำเป็นอวดฉลาดคนที่ฉลาดกว่าท่านตอนนี้อยู่ในคุก
  91.  จงฟังมากกว่าพูด
  92.  อาหารกินได้ทุกเวลา แต่วาจาควรสงวนไว้บ้าง
  93.  ตราบเท่าที่ไม่เอ่ยวาจา ไม่มีใครรู้ว่าเราโง่
  94.  เข้าฝูงหงส์ก็เป็นหงส์ เข้าฝูงกาก็เป็นกา
  95.  ถ้าอยากมีเพื่อนก็ต้องทำตัวให้เป็นเพื่อน (รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา)
  96. อย่ากินปูนร้อน (อย่าแก้ตัวก่อนถูกกล่าวหา)
  97.  ไม่ควรเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ การกู้ยืมทำให้เสียทั้งเงินแล้ะเพื่อน
  98. ทำผิดครั้งเดียว ผู้คนจะพูดถึงไม่มีวันจบสิ้น
  99.  วิธีที่ดีทีสุดในการสร้างความสำเร็จในชีวิตก็คือปฏิบัติตามคำที่แนะนำผู้อื่น

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ค่าวก้อม

หนานชาติ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ข้าวกล้อง

 ประโยชน์ของข้าวกล้องอาจเป็นที่ประจักษ์มาเนิ่นนาน แต่เมื่อเราย้อนกลับไปดูพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึงสรรพคุณของข้าวกล้องอีกครั้ง แล้วจะอยากกินข้าวกล้องทุกวันตามรอยพระองค์ท่านเลย

          “ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องนี่แหละ เรากินทุกวัน เพราะมีประโยชน์ ร่างกายแข็งแรง...” นี่เป็นส่วนหนึ่งจากกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเราขออัญเชิญมาให้ทุกคนได้อ่านด้วยความปลื้มปีติกันอีกครั้ง ก่อนจะขอพาไปรู้จักประโยชน์ของข้าวกล้อง  พระกระยาหารโปรดของในหลวง ร.9 ตามข้อมูลด้านล่างนี้มารู้จักข้าวกล้องกันก่อน
    
          ข้าวกล้อง คือ ข้าวที่มีสีน้ำตาลอ่อน เป็นข้าวที่ขัดสีเอาเปลือกออกเพียงครั้งเดียว ทำให้ยังคงมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำข้าว) หลงเหลืออยู่ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีคุณค่าทางอาหารอันมีประโยชน์มาก โดยข้าวกล้องจะมีสารอาหารต่าง ๆ ที่มากกว่าข้าวขาวขัดสีอยู่พอสมควร

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวกล้อง

          ข้อมูลจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงให้เห็นว่า ข้าวกล้องในปริมาณ 100 กรัมให้คุณค่าทางโภชนาการดังต่อไปนี้

          - คาร์โบไฮเดรต 75.1 มิลลิกรัม
          - โปรตีน 7.1 มิลลิกรัม
          - ไขมัน 2.0 มิลลิกรัม
          - ใยอาหาร 2.1 มิลลิกรัม
          - โซเดียม 84 มิลลิกรัม
          - โพแทสเซียม 144 มิลลิกรัม
          - แคลเซียม 9 มิลลิกรัม
          - ฟอสฟอรัส 267 มิลลิกรัม
          - แมกนีเซียม 60 มิลลิกรัม
          - เหล็ก 1.3 มิลลิกรัม
          - สังกะสี 0.49 มิลลิกรัม
          - ทองแดง 0.11 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 1 ปริมาณ 0.76 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 2 ปริมาณ 0.04 มิลลิกรัม
          - ไนอาซิน 5.40 มิลลิกรัมประโยชน์ของข้าวกล้อง มีดียังไง

1. ช่วยในกระบวนการขับถ่าย
    
          ถ้ากินข้าวกล้องทุกวันจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น เนื่องจากข้าวกล้องมีใยอาหารสูง โดยมีไฟเบอร์มากกว่าข้าวขาวขัดสีถึง 3 เท่า จึงช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ทำงานได้อย่างไหลลื่นขึ้น 

2. ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว
    
          ในข้าวกล้องอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ซึ่งวิตามินบี 1 จะช่วยป้องกันโรคเหน็บชาและอาการตะคริวได้ ดังนั้นหากใครไม่อยากเจอกับอาการเหน็บชา ก็ลองกินข้าวกล้องทุกมื้อไปเลย

3. ป้องกันโรคปากนกกระจอก
    
          โรคปากนกกระจอกก็มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายขาดวิตามินบี 2 ซึ่งเจ้าวิตามินบี 2 นี้ก็พบได้มากในข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องนี่แหละค่ะ

4. ช่วยในการเจริญเติบโตของเหงือกและฟัน
    
          เนื่องจากข้าวกล้องมีฟอสฟอรัสอยู่มากถึง 267 มิลลิกรัมต่อข้าวกล้อง 100 กรัม จึงสามารถช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันได้ อีกทั้งแคลเซียมในข้าวกล้องยังจะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงได้อีกทางหนึ่งด้วย

5. ป้องกันโรคโลหิตจาง
    
          ด้วยความที่ข้าวกล้องอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะในส่วนของธาตุเหล็กก็มีอยู่ไม่น้อย จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องกินข้าวกล้องเป็นประจำด้วยนะคะ6. ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
    
          ข้อมูลจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกไว้ว่า นอกจากผักและผลไม้แล้ว ข้าวกล้องไทยก็เป็นแหล่งสำคัญของสารกลุ่มฟีนอลิกเช่นกัน โดยสารดังกล่าวมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชั่นและลดการเกิดมะเร็งได้

          โดยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์พบว่า กลุ่มหนูทดลองที่กินข้าวกล้องไทย สามารถลดภาวะเครียดออกซิเดชั่นและลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลองที่ไม่ได้กินข้าวกล้องไทยเลย ดังนั้นข้าวกล้องไทยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้นั่นเอง

7. ป้องกันโรคผิวหนังบางชนิด

    
          ไนอาซินที่มีอยู่ในข้าวกล้องจะช่วยในการทำงานของระบบผิวหนังและระบบประสาท ซึ่งก็อาจจะมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคผิวหนังบางชนิดได้ เช่น โรคหนังกระ ทั้งยังช่วยป้องกันอาการประสาทไวได้อีกด้วย

8. ป้องกันอาการอ่อนเพลีย อาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ 
    
          อาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ มักจะมีสาเหตุมาจากภาวะขาดวิตามินบีรวม ดังนั้นในข้าวกล้องที่มีทั้งวิตามินบี 1 และบี 2 จึงสามารถป้องกันอาการผิดปกติดังกล่าวได้

9. ป้องกันโรคหัวใจ
    
          งานวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทมเพิล สหรัฐอเมริกา เผยว่า สารอาหารในข้าวกล้องจะช่วยต่อต้านโปรตีนที่ชื่อว่า Angiotensin II ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดก่อโรคหลอดเลือดแข็งตัว และโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นหากกินข้าวกล้องได้เป็นประจำก็จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเหล่านี้ได้

วิธีหุงข้าวกล้อง

          หากหุงไม่ถูกวิธี ข้าวกล้องจะแข็งกระด้าง ทำให้บางคนรู้สึกว่าทานไม่อร่อย ดังนั้นถ้าหุงข้าวกล้องต้องใส่น้ำมากกว่าหุงข้าวขาว

          ส่วนใครอยากลองเปลี่ยนจากข้าวขาวมาทานข้าวกล้อง วิธีทานให้ง่ายขึ้นคือ ครั้งแรกควรผสมข้าวกล้องลงในข้าวขาวเพียง 1 ใน 4 ของข้าวขาว หรือ 1 ใน 3 ของข้าวขาวก่อน หลังจากนั้นสักอาทิตย์ก็ค่อย ๆ เพิ่มเป็นอย่างละครึ่ง ข้าวขาวครึ่งหนึ่งผสมกับข้าวกล้องอีกครึ่งหนึ่ง เมื่อคุ้นกับรสชาติและผิวสัมผัสแล้วจึงค่อย ๆ ลดข้าวขาวลงไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเหลือแต่ข้าวกล้องเพียงอย่างเดียว  

          นอกจากนี้หลายคนยังอาจจะสงสัยว่าข้าวกล้องกับข้าวกล้องงอกเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ฉะนั้นเราเลยจะพามารู้จักข้าวกล้องงอกกันอีกสักอย่าง ตามนี้ค่ะข้าวกล้อง VS ข้าวกล้องงอก
    
          ข้าวกล้องงอก (Germinated brown rice หรือ GABA-rice) เป็นข้าวกล้องที่ต้องนำมาผ่านกระบวนการงอกเสียก่อน โดยการนำข้าวกล้องมาแช่น้ำจนมีรากงอกออกมา กลายเป็นข้าวกล้องงอก ซึ่งจะทำให้ข้าวกล้องมีสารอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสารกาบา และข้าวกล้องที่แช่น้ำทิ้งไว้แล้วเมื่อนำไปหุงก็จะได้ข้าวที่นุ่มน่ารับประทานกว่าข้าวกล้องธรรมดาด้วย

          ทั้งนี้สารกาบา หรือ Gamma amino butyric acid เป็นกรดอะมิโนจากกระบวนการ Decarboxylation ของกรดกลูตามิก (Gutamic acid) กรดนี้มีความสําคัญในการทำหน้าที่สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลาง และสารกาบายังเป็นสารสื่อประสาทประเภทสารยับยั้ง (Inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยทำให้สมองผ่อนคลายและนอนหลับสบาย อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ (Anterior Pituitary) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (HGH) ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้กล้ามเนื้อกระชับ และเกิดสาร Lipotropic ป้องกันการสะสมไขมัน

ประโยชน์ของข้าวกล้องงอก

          จากการศึกษาและวิจัยพบว่า การบริโภคข้าวกล้องงอกที่มีสารกาบามากกว่าข้าวกล้องปกติ 15 เท่า จะสามารถป้องกันการทำลายสมอง และโรคสูญเสียความทรงจำ หรืออัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นจึงได้มีการนำสารกาบามาใช้ในวงการแพทย์เพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่าง ๆ  หลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก เป็นต้น รวมทั้งผลการวิจัยด้านสุขภาพระบุว่าข้าวกล้องงอกที่ประกอบด้วยสารกาบา มีผลช่วยลดความดันโลหิต ลด LDL (Low Density lipoprotein) ลดอาการอัลไซเมอร์ ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณดี และใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางได้อีก
 
          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ไม่ควรรับประทาน เพราะเมล็ดข้าวกล้อง หรือยอดผักต่าง ๆ ที่กำลังจะงอกจะมีสารยูริกจำนวนมาก ทานแล้วอาจเกิดการอักเสบได้

          ได้รู้กันไปแล้วว่าข้าวกล้องมีดีอย่างไร ถึงได้เป็นพระกระยาหารโปรดของในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ โดยเราจะขอทิ้งท้ายไว้ด้วยกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เคยดำรัสเกี่ยวกับข้าวกล้องไว้เมื่อปี พ.ศ. 2541 ดังนี้

วิทยากรท้องถิ่น

ภคมนวรรณ ขุนพิณี
การพัฒนา หลักสูตรสถานศึกษา
          สถานศึกษาเป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาเป็นแหล่งของการแสวงหาความรู้จึงต้องมีหลักสูตรเป็นของตนเอง
คือ หลักสูตรสถานศึกษา ต้องครอบคลุมภาระงานการจัดการศึกษาทุกด้าน หลักสูตรสถานศึกษาจึงประกอบด้วยการเรียนรู้ทั้งมวลเป็นประสบการณ์อื่นๆ ที่สถานศึกษาแต่ละแห่งวางแผนเพื่อพัฒนาผู้เรียนซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
          หลักสูตรสถานศึกษา เป็นแบบแผนหรือแนวทางหรือข้อกำหนดของการจัดการ ที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้
ความสามารถโดยส่งเสริมให้แต่ละบุคคลพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตน รวมถึงระดับขั้นของมวลประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้สะสมซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้ประสบการณ์สำเร็จในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
รู้จักตนเอง มีชีวิตอยู่ในโรงเรียน ชุมชน สังคม และโลกอย่างมีความสุข
          แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาดูเหมือนเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจมาก  สืบเนื่องมาจาก แนวการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช  2542 ซึ่งกำหนดแนวการจัดการศึกษา ให้สถานศึกษาจัดสาระของหลักสูตรให้เป็นไปตามกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย
ความเป็นพลเมืองดีของชาติ  การดำรงชีวิต  และการประกอบอาชีพ  รวมทั้งจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ในชุมชนและสังคมขั้นเตรียมการวางแผนและออกแบบหลักสูตร (Preparing,planning  and designing the curriculum) 
            กิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรในขั้นตอนนี้ ได้แก่
            1. การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  คณะทำงาน ควรคัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้
ความสามารถในด้านเนื้อหา  การสอน  สภาพของท้องถิ่น และการพัฒนาหลักสูตร  ซึ่งประกอบด้วย
                        1.1  ครูผู้สอน  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร
เพราะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในกระบวนการ จัดการเรียนการสอน ครูผู้สอนที่ควรได้รับคัดเลือกมามีส่วนร่วมในคณะทำงาน ควรเข้าใจในหลักสูตรแม่บท มีประสบการณ์ ด้านการจัดการเรียนการสอน รู้และเข้าใจสภาพของโรงเรียน ชุมชนและสังคม
                        1.2 ผู้บริหารโรงเรียน เป็นผู้ที่มีบทบาทส่งเสริม สนับสนุน ให้คำแนะนำในการพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษา ความสำเร็จของการพัฒนาหลักสูตรในระดับนี้  เกิดได้จากการส่งเสริมและสนับสนุนของผู้บริหารโรงเรียนเป็นสำคัญ
                        1.3  วิทยากรท้องถิ่นหรือประชาชน  การจัดการศึกษาที่ให้สังคมมีส่วนร่วมนั้น แนวทางหนึ่งคือการมีวิทยากรท้องถิ่นหรือประชาชนในชุมชนเป็นคณะกรรมการร่วมในการพัฒนาหลักสูตรเพราะบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจด้านสภาพ และความต้องการท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น ๆ เป็นอย่างดี
                        1.4  ศึกษานิเทศก์  เป็นบุคลากรอีกกลุ่มหนึ่งที่จะให้คำแนะนำและสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรระดับนี้  อีกทั้งยังสามารถให้คำแนะนำด้านกระบวนการขออนุมัติใช้หลักสูตรได้อีกด้าน
                        1.5  นักวิชาการ บุคคลกลุ่มนี้อาจได้แก่  อาจารย์จากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันราชภัฏที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านเนื้อหาวิชา และการพัฒนาหลักสูตรและการสอน
            นอกจากนี้คณะกรรมการจากกลุ่มบุคคลทั้ง 5 ฝ่ายนั้นควรมีคุณลักษณะส่วนตัวที่เป็นผู้ที่มีวิสัย-ทัศน์ที่กว้างไกล ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และที่สำคัญยิ่งคือ ความจริงใจที่ต้องการให้เกิดพัฒนาการที่ดีกับผู้เรียนในสถานศึกษา หรือชุมชนนั้น ๆ

การพัฒนา หลักสูตรท้องถิ่น
           หลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึง หลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน  หลักสูตรท้องถิ่นจะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ผู้เรียนแสวงหาองค์ความรู้ที่ตอบสนองกับวิถีชีวิตของตนเอง  ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์  ผู้เรียนจะเรียนรู้ตามสภาพจริงของตนเอง  สามารถนำความรู้ไปใช้การพัฒนาตนเอง  ครอบครัว และชุมชนได้  ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 3)  จึงอาจสรุปได้ว่า  หลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้กับกลุ่มผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จัดตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนในท้องถิ่นนั้นๆ  เป้าหมายหลัก คือ ต้องการให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนให้ดีขึ้น

ลักษณะการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น มี 3  ประเภท คือ
          1. หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยท้องถิ่นเองทั้งหมด  แต่ต้องเป็นไปตามนโยบายที่ส่วนกลางได้กำหนดไว้  ( หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พ.ศ. 2544 ) 
          2. หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นจากหลักสูตรแม่บทที่ส่วนกลางจัดทำ  ส่วนกลางของรัฐ  จัดทำหลักสูตรแม่บท  และเว้นที่ว่างให้ท้องถิ่นมีเสรีภาพในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น  โดยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544  มีแนวทางการพัฒนาได้เป็น  2 กรณี  คือ
                       2.1 หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยบางส่วนของหลักสูตรแม่บท  กล่าวคือ  เป็นการปรับองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บท  เช่น  ปรับรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ เพิ่มเติมกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา  และความต้องการของท้องถิ่น  ทั้งนี้ยังยึดมาตรฐานของหลักสูตรแม่บทอยู่
                       2.2 หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นเป็นรายวิชาใหม่  หรือการสร้างหลักสูตรย่อย  เพื่อเสริมหลักสูตรแม่บท  โดยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา  และความต้องการของท้องถิ่น  ทั้งนี้  สามารถจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมจากมาตรฐานของหลักสูตรแม่บท
          3. หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาสำหรับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ  เป็นหลักสูตรที่หน่วยงานในท้องถิ่นพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะกิจ  และเป็นหลักสูตรระยะสั้น ๆ เพื่อใช้กับชุมชนหรือท้องถิ่นตามความต้องการและความสมัครใจของผู้เรียน  รวมทั้งความสอดคล้องกับสภาพสังคม  เศรษฐกิจ  และวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น  อาทิ  หลักสูตรซ่อมเครื่องยนต์  หลักสูตรทำขนม  หลักสูตรการทำอาหาร  เป็นต้น

กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน  ดังนี้  ( กองพัฒนาการศึกษานอโรงเรียน.2543 : 13 )
  ขั้นที่ 1  การสำรวจสภาพปัญหาของชุมชน
  ขั้นที่ 2  การวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชนและความต้องการของผู้เรียน
  ขั้นที่ 3  เขียนผังหลักสูตร
  ขั้นที่ 4  เขียนหลักสูตร

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2561

นิทานพื้นบ้าน

 1. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ลานนางคอย จังหวัดแพร่

          ถ้ำผานางเป็นถ้ำสวยงามอยู่ในจังหวัดแพร่ ปากถ้ำอยู่ภูเขาสูงจากพื้นดินประมาณ 50 เมตร มีบันไดไต่เลียบเลี้ยววกขึ้นไปจนสุดทาง บันไดเป็นดินและหิน มีลานกว้างเป็นที่นั่งพัก ก่อนจะเข้าสู่ถ้ำด้านขวามือเป็นซอกเขา มีทางขึ้นไปไม่สูง ข้างบนมีลานหินเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่นั่ง เรียกกันว่า ลานนางคอย

          เรื่องถ้ำผานางและลานนางคอยมีอยู่ว่า ครั้นอาณาจักรแสนหวียังเจริญรุ่งเรือง เจ้าผู้ครองนครมีราชธิดาผู้สิริโฉมงดงามมาก นามว่านางอรัญญนี วันหนึ่งนางเสด็จประพาสโดยเรือพระที่นั่งเกิดมีพายุใหญ่พัดกระหน่ำมา ทำให้เรือพระที่นั่งพลิกคว่ำนางอรัญญนีพลัดตกลงในน้ำ ฝีพายหนุ่มคนหนึ่งได้กระโดลงไปช่วยชีวิตนางไว้ได้ ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองคนก็ได้ลอบติดต่อรักใคร่กันโดยปิดบังไม่ให้พระราชบิดาของนางล่วงรู้

          จนนางอรัญญนีตั้งครรภ์ขึ้น พระราชบิดาของนางกริ้วมาก สั่งให้โบยนางและกักขังไว้ แต่คนรักของนางก็ได้ลอบเข้าไปหาถึงในที่คุมขัง และพานางหลบหนีไป เมื่อเจ้าครองนครทรงทราบก็สั่งให้ทหารออกติดตามคนทั้งสอง ทหารขี่ม้าทันทั้งสองคนที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง และยิงธนูไปหมายจะเอาชีวิตชายหนุ่ม แต่ธนูพลาดไปถูกนางอรัญญนีได้รับบาดเจ็บสาหัส สามีของนางจึงพานางเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในถ้ำ

          นางอรัญญนีรู้ตัวว่า คงไม่รอดชีวิต จึงขอร้องให้สามีหนีเอาตัวรอดโดยให้สัญญาว่าจะรออยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ตลอดไป ชายหนุ่มจึงจำใจต้องจากไปตามคำขอร้องของนาง ส่วนนางอรัญญนีก็นั่งมองดูสามีควบม้าหนีห่างไปจนลับตา และสิ้นใจตายอยู่ในถ้ำแห่งนั้น ลานที่นางนั่งดูสามีควบม้าจากไปนั้น ต่อมาเรียกว่า ลานนางคอย ส่วนถ้ำแห่งนั้นก็ได้ชื่อว่า ถ้ำผานาง
2. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เมืองลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

          เมืองลับแลเป็นอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เดิมคงเป็นเมืองที่การเดินทางไปมาไม่สะดวก เส้นทางคดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น มีเรื่องเล่ากันว่าคนมีบุญเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปถึงเมืองลับแล

          มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งเข้าไปในป่า ได้เห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมา ครั้นมาถึงชายป่า นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่าง ๆ แล้วก็เข้าไปในเมืองด้วยความสงสัย ชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับไป มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ เพราะชายหนุ่มแอบหยิบมา นางวิตกเดือดร้อนมาก

          ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม นางจึงพาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองซึ่งชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางอธิบายว่า คนในหมู่บ้านนี้ ล้วนมีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด แล้วนางก็พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวก็ยินยอมแต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ ชายหนุ่มได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวลับแลจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน

          วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้เลี้ยงบุตรอยู่ บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า "แม่มาแล้ว ๆ" มารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย แล้วนางก็จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก

          จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้แล้วนางก็กลับไปเมืองลับแล ชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดิน ทางกลับบ้านตามที่ภรรยาชี้ทางให้ ระหว่างทางที่เดินไปนั้น เขารู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้น เรื่อย ๆ และหนทางก็ไกลมาก จึงหยิบเอาขมิ้นที่ภรรยาใส่มาให้ทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิมบรรดาญาติมิตรต่างก็ ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดรวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้แต่เขาทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา

          ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไม้หมดแล้ว และเมื่อขุดดูก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทองแต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก็หลงทางวกวนไปไม่ถูก จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตาม3. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง เซี่ยงเมี่ยงค่ำพญา


          มียายแม่หม้ายคนหนึ่ง มีลูกสามคน ทีแรกนั้น ยายแม่หม้ายคนนี้จะข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง ทีนี้ก็ข้ามไม่ได้ มีพญาขี่เรือมา ขอข้ามไปกับพญา พญาก็ไม่ให้ข้าม พระพายเรือมาอีก ขอข้ามกับพระ พระก็ไม่ให้ข้าม ทีนี้ก็มีลัวะพายเรือมาอีก ขอข้ามกับลัวะ ลัวะก็ไม่ให้ข้ามก็เลยผูกเวรไว้ว่า ขอภาวนา (ผาถะนา) มีลูกสามคนให้

          คนหนึ่งไปแกล้งพญา

          คนหนึ่งไปแกล้งพระ

          คนหนึ่งไปแกล้งลัวะ

          ต่อมา ยายแม่หม้ายคนนั้นเกิดมาอีกชาติหนึ่ง ได้แต่งงานอยู่กินกับสามี จนมีลูกด้วยกันสามคน ผัวตายทิ้ง เลยเป็นยายแม่หม้าย ลูกคนหัวปี ของนางแม่หม้าย ก็ได้ไปแกล้งพญา ดังคำสาปแช่งที่นางแม่หม้ายได้อธิษฐานไว้ เมื่อชาติปางก่อน โดยลูกคนนี้ท่องเที่ยวไปวัน ๆ เจอใครก็โกหก หลอกเล่นไปเรื่อย คนอื่น ๆ เห็นว่า "เออ…หมอนี่สมควรไปอยู่กับพญา มันพูดตลกขบขันดี" พญาก็เอาไปอยู่ด้วย พญาบ้านเป็นทัพเมืองเป็นศึก ต่อมาต้องไปออกศึก พญาจึงได้สั่งกับเซี่ยงเมี่ยงว่า "เซี่ยงเมี่ยง ให้มึงอยู่บ้านนะ"

          เซี่ยงเมี่ยงก็อยู่เฝ้าบ้าน แต่เซี่ยงเมี่ยงหลับเล่นชู้กับเมียพญา เมียพญาก็เล่นคบชู้กับมัน จนไม่รู้จะทำยังไง พญามารู้ว่ามันเล่น มันก็ว่ามันไม่ได้เล่น "ผมไม่ได้เล่น ผมไม่ได้ทำจริง ๆ" พญาถามว่า "ก็มึงมีหลักฐานเหรอ" เซี่ยงเมี่ยงตอบว่า  "มีสิ .. ถ้าผมได้เสพได้สู่กับเมียพญา ดูผมนี่เถอะ" เอาปลาร้าปลาสร้อยเข้าพอกหัวแหละ "ดูสิ" กลิ่นสาบตลบอบอวน พญาก็เลยเชื่อมัน ว่าไม่ได้มีชู้กับเมียจริง จึงให้ไปเลี้ยงม้าพญา "เลี้ยงม้า… น้อย…นอย..นอย.. ถ้าไม่มีปลาร้าปลาสร้อยเซี่ยงเมี่ยงก็ตาย"

          ต่อมาเซี่ยงเมี่ยงก็ยังไปหลอกคนอื่นสารพัด พญาว่า "มันเป็นยังไง…หมอนั่นหลอกเก่ง มึงลองหลอกกูดูซิ" พญาขี่ม้ามา มันไปอยู่สนามนู่น หลอกคนทั้งหลาย ใครก็ว่าเซี่ยงเมี่ยงเนี่ยช่างหลอก พญาขี่ม้าไป "อะ…เซี่ยงเมี่ยงมึงช่างหลอก หลอกกูดูซิ" เซี่ยงเมี่ยงตอบไปว่า "ก็จะไปหลอกได้ยังไง พญาอยู่บนหลังม้า ถ้าจะให้ข้าหลอก ต้องลงมาจากม้าทางนี้สิ ลงมาอยู่ใกล้ ๆ จะหลอกได้"

          พอพญาก็กระโดดลงหลังม้า เซี่ยงเมี่ยงรีบบอกว่า "เอ้า…หลอกได้แล้ว ก็หลอกพญาลงม้านั่นแล้วไง" พญาเลยบอกว่า "เอ้อ… ตกลง หลงคำหลอกจริง" อยู่มาอีก ทีนี้มันก็พยายามแกล้งพญาเรื่อย ๆ ผลสุดท้ายพญา ก็เกลียดมัน มันแกล้งพญาเหลือร้าย พญาจะฆ่ามันโดยการเอายาพิษใส่น้ำ เอาให้เซี่ยงเมี่ยงกิน ก็กินจริง เพราะไม่รู้ แต่ก่อนที่มันจะตาย มันก็ได้บอกให้เมียมันว่า "ถ้าข้าจะตาย ถ้าข้าตายไปแล้วละ ให้เองเอาข้าใส่ในอู่ ไกวเสียแล้วก็เอาหนังสือวางลง ส่องหน้าให้ข้าอ่านนะ"

          พอเซี่ยงเมี่ยงตายแล้ว เมียก็ทำตามที่บอก เอาเซี่ยงเมี่ยงใส่ในอู่ไกว พญามาแอบมาดู "หา…เซี่ยงเมี่ยงเนี่ยมันยังไง กินยานี้ไม่ตายหรือนี่ ยานี้ไม่มีพิษเหรอ" พญาก็มาชิมยาดู พญาก็เลยตายด้วย เรื่องก็จบลงเท่านี้4. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ปู๋เซ็ดค่ำลัวะ

          เรื่องปู๋เซ็ดค่ำลัวะ ก็คือว่า ลูกคนสุดท้องของยายนั่นแหละ (นางแม่หม้าย) ส่งให้มา มาแกล้งลัวะ มันจะไปพยายามแกล้งลัวะทุกทางเลย ทีนี้ก็ พวกลัวะทั้งหลาย ลูกเล็กเด็กแดงลูกลัวะ เล่นกับมัน มันก็เล่นด้วย แกล้งด้วย เขกหัวเขกเหอ ทำสารพัด มันกำลังจะโกหก หลอกว่า "ใคร…ใครไม่ไปตกเบ็ดเหรอ ตกเบ็ดปลากินดีนะ" "เอาอะไรตก เอาอะไรทำเหยื่อ"
          ปู๋เซ็ดก็บอกว่าเอาไข่ "ต้มไข่สักรังเอาไป แล้วก็ เอาเกาะเบ็ด มันได้อยู่แล้ว"

          หมอนั่นว่ามันจะบอกให้พ่อมัน หมอนั่นมันจะบอกให้พ่อมัน มันจะบอกให้พ่อเราไปตก ว่าเสร็จ ปู๋เซ็ดนั้นมันก็ "ก็พวกเองจะไปตกเบ็ด บอกให้พ่อเองไปตกเบ็ดเมื่อไร" "วันพรุ่งนี้" (รุ่งขึ้น) ปู๋เซ็ดก็ไปซ่อนอยู่ใต้วังน้ำ ถ้าเขาตกเบ็ดมามันก็เอาไข่เสีย ตกเบ็ดมามันก็เอาไข่ ไข่ใส่เบ็ดตก ได้มาก็เอามากิน จนกระทั่ง มันได้ลูกได้เมีย ก็หากิน เอามาให้ลูกมัน มากินอวดลูกลัวะลูกลัวะถาม "ไอ้นี่ เอ็งไปเอาไข่ที่ไหนมากิน" "พ่อข้าไปเป็นปลาอยู่ในวัง ไปเอาไข่มากิน"

          ทีนี้ เด็กลูกลัวะมาบอกให้พ่อแม่ พ่อแม่มัน "ฮึ…ปู๋เซ็ดจริง ๆ ด้วย ที่มันมากินไข่เราเนี่ย ไม่ใช่ปลา ทีนี้ นะเราจะไปกินไข่ปู๋เซ็ดบ้างล่ะ" บอกให้ลูกปู๋เซ็ดแหละ หมู่เด็กบอกว่า "ไอ้นี่ วันพรุ่งนี้ บอกให้พ่อเองไปตกเบ็ดนะ เอาไข่ไปตกสิ พ่อข้าเขาจะเปลี่ยนจากตกเบ็ด…พ่อข้าเขาจะไปเป็นปลา พ่อเองไปตกเบ็ดบ้าง" (พูด)เสร็จ ทีนี้ก็ไปตกเลย มันไม่ได้ใส่ไข่เยอะ ใส่ไข่นิดเดียว ทำเบ็ดคมแล้วก็คมอีก ตกไปงั้น ลัวะมันไม่ได้ฉลาดเหมือนคนเมืองเรา ลัวะสมัยเมื่อก่อนน่ะ…. พอตกเบ็ดก็ตะครุบคาบ ปู๋เซ็ดลากคอมาตีเสีย ตกเบ็ดไปก็คาบ ก็ลากคอมาตี ตายหมดจนเป็นครึ่งหมู่บ้านแล้วสิ

          พอเบื่อ เลยมาหาวิธีแกล้งอย่างอื่นอีก… คิดอะไรไม่ออกแล้วแกล้งทำเป็นไม่สบาย ปู๋เซ็ดแกล้งทำเป็นไม่สบาย อำพรางที่จะไปฆ่าลัวะ มาหาเอ่อ…ไปถามยามที่ลัวะ "โห!…มันไม่สบายอย่างนี้ ก็ต้องไปเซ่น ผีไม้หลวงกลวงไม้ใหญ่ก่อนน่ะ จะหาย" ทีนี้ก็ปู๋เซ็ดมันเข้าไปอยู่กลวงไม้นู่น พอพวกลัวะเอาไก่เอาอะไร มาเซ่น "เอ้อ…นี่นะผีไม้หลวงกลวงไม้ใหญ่ เอามาเซ่นมาบูชา ลูกเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้"

          เอ้อ!…วิ่ง..วิ่ง..วิ่ง..วิ่ง ลัวะมันกลัว ปู๋เซ็ดเอาไก่มาให้ลูกมันกินไป (กิน) อวดลัวะ ทีนี้ลูกลัวะเห็นก็หือ… ร้องไห้อยากจะกิน ก็ถามว่า "เองเอาไก่ไหนมากิน" "อึม…พ่อข้าเป็นผีอยู่..เอ่อ..ต้นไม้หลวงกลวงไม้ใหญ่ ได้ไก่ต้มมากิน" ลัวะพูดว่า "วันพรุ่งนี้ให้ปู๋เซ็ดไปเซ่นบ้างนะ ไก่น่ะ" ลัวะทั้งหลายก็ ปู๋เซ็ดนี่ก็แกล้งไม่สบาย มาถามยามที่ลัวะ อีกน่ะแหละ "ให้ไปเซ่นผีไม้หลวงกลวงไม้ใหญ่เอะ จะหาย เอาไก่ไปเยอะ ๆ" มันก็ว่า "เอ้อ…ดีละ ต้นไม้กลวงมันมีนั่นต้นหนึ่งแล้วนี่"

          พวกลัวะก็ไปอยู่ในกลวงไม้นั่น ก็ในกลวงไม้ ปู๋เซ็ดก็เอาไก่ไปเอาหมูไป แกล้งตีหมูให้ร้อง อู๊ด!..อู๊ด!..อู้ด!..อู้ด!.. มันไม่ได้ตีให้ตาย พวกลัวะก็พากันดีใจว่าจะได้กินเนื้อไก่ เนื้อหมู มันหักเอาเศษไม้ เอาเศษหญ้าเอาอะไรเข้ายัดข้างใต้ ก็ไฟเข้าหวดให้เขา ตายกันหมดบ้านหมดเมืองลัวะ อีกซ้ำยังไม่พอ กะโหลกหัวปู๋เซ็ดนั้นที่เรี่ยอยู่ มันตายแล้วมันเรี่ยอยู่นั่น พวกลัวะที่หลงที่เหลือยังอยู่นั้น ไปขี้ใส่กะโหลกหัวมัน "เจ็บใจ มันแกล้งทั้งโคตรพ่อโคตรแม่" "เฮ่อ… ปู๋เซ็ดนี่ กะโหลกหัวมันก็ยังดุอยู่เลยว่ะเฮ้ย" นี่แหละ…จบเท่านี้เรื่องปู๋เซ็ด

      5. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง ดนตรีธรรมชาติ

          มีนายพรานผู้หนึ่งมีอาชีพเข้าป่าล่าสัตว์ เมื่องยิงสัตว์ได้ก็แล่เนื้อและย่างนำมาขายในเมืองส่วนเขาและหนังก็ขายให้ แก่ผู้ต้องการ วันหนึ่ง เขาออกจากบ้านพร้อมกับปีนคู่มือเดินลัดตรงเข้าป่ามุ่งตรงไปยังหนองน้ำข้างเขา เพราะบริเวณนี้สัตว์ป่ามักจะลงมากินน้ำและกินดินโป่งเสมอ ๆ

          นายพรานคิดแต่ในใจว่า วันนี้ถ้าโชคดีคงจะยิงหมูได้ไม่น้อยกว่า 2 ตัว เพราะฤดูนี้หมูชอบลงมากินดินโป่ง ขณะที่นายพรานกำลังเดินทางไปผ่านป่าทะลุออกสู่แม่น้ำสองฟาก แม่น้ำมีต้นไม้ใหญ่ร่มครึ้ม เยือกเย็น มีนกนานาชนิดจับคู่ส่งเสียงจอแจ

          นายพรานกวาดสายตาดูรอบ ๆ เพื่อมองหาสัตว์ป่าที่จะลงมากินน้ำ ทันใดนั้นก็เหลือบไปเห็นหมูป่าขนาดใหญ่กำลังเดินดุ่ม ๆ เสาะหาอาหารตามชายป่าละเมาะอีกอีกฟากหนึ่ง นายพรานก็ทรุดตัวลงนั่งโดยเร็ว เพื่อเตรียมพร้อมบรรจุลูกกระสุนและเลือกทำเลที่เหมาะคอยดักยิง

          หมูป่าตัวนั้นคงเดินเสาะหาอาหารไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมันไปพบรางไม้สำหรับใส่อาหารซึ่งชาวไร่ใส่อาหารดักล่าสัตว์ป่าไว้ โดยไม่รีรอมันตรงเข้ากินอาหารในรางนั้นทันที เผอิญวันนี้เจ้าของไร่ไม่สบาย จึงไม่ได้ออกมานั่งห้างคอยดักยิงสัตว์ที่ตนวางอาหารล่อไว้

          นายพรานขยับตังคลานเข้าไปเพื่อเลือกทำเลยิงที่เหมาะ จนกระทั่งอยู่ในระยะที่มองเห็นหมูตัวนั้นชัดเจนที่สุด เขาจึงยกปืนขึ้นประทับบ่าเล็งจะยิงให้ตรงหัวใจ ขณะที่เขากำลังเล็งอยู่นั้น ลมเย็นพัดมาเอื่อย ๆ ยอดหญ้ายอดพงแกว่งไกวโอนเอนไปมา แสงแดดสว่างจ้าเข้าตาทำให้ตาเขาพร่าพราวมองเห็นหมูป่าไม่ชัดเจน เขาจึงหยุด ไม่กล้ายิงไปเพราะเกรงว่าจะยิงพลาด

          ขณะที่เขากำลังอยู่นั้น หูของเขาได้ยินเสียงของนกหัวขวานกำลังจิกกินหนอนที่กอไผ่ ดัง ป๊ก ป๊ก ปง ปง ๆ เป็นระยะ ๆ ประกอบกับเสียงระหัดน้ำที่หมุนตามแรงน้ำ น้ำในกระบอกไหลออกตกลงมากระทบรางไม้ที่รองรับดัง ฉ่า ฉ่า ฉับ ฉ่า ฉ่า ฉับ ๆ ผสมกับเสียงหมูกินอาหารในรางไม้ดัง ตุ๊บ ตุ๊บ โมง โมง จ๊วบ จ๊วบ ๆ หางของมันซึ่งมีดินเหนียวติดตรงปลายหางเห็นเป็นก้อนกลมแกว่งไปมาไล่ริ้นยง หางแกว่งถูกท้องของมันดัง ปุ๋ง ปั๋ง ปุ๋ง ปั่ง ๆ ผสมกับเสียงลมพัดกอไผ่เสียดสีกันดังเอี๊ยด ๆ อี๊ด ๆ อ๊อด ๆ เสียงแกนระหัดหมุนไปตามแรงน้ำดัง อืด อิด ๆ นกต้อยตีวิด บินไปมาร้องดังกระแต๊ แว๊ด ๆ ๆ

          เสียงต่าง ๆ เหล่านี้ดังผสมคลุกเคล้ากันฟังเหมือนเสียงดนตรีสวรรค์ นายพรานระงับใจไว้ไม่ได้จึงลดปืนลงมาพาดกับกิ่งไม้เงี่ยหูฟังเสียงเหล่านั้น อย่างตั้งใจ เสียงเหล่านั้นมันดัง ป๊ก ป๊ก ปง ปง ๆ ฉ่า ฉ่า ฉับ ๆ ตุ๊บ ตุ๊บ โมง ๆ จ๊วบ จ๊วบ ๆ ปุ๋ง ปั่ง ๆ เอื๊ยด ๆ อื๊ด ๆ แอ๊ด ๆ อืด อือ อืด ๆ กระแต้แว้ด ๆ

          "เออ เสียงเหล่านี้ช่างไพเราะแท้ ๆ " นายพรานอดใจไว้ไม่ได้จึงลุกขึ้นรำไปตามจังหวะ ดังคำพรรณนาไว้ดังนี้

          จ้อง ๆ มอง ๆ ยอง ๆ ย่อยแย่ง ไกวแกว่งอาวุธ ยุติการยิง เอนกายนั่งพิงต้นไม้ นั่งพิงฟังเสียงเสนาะไพเราะกระไร แกลุกขึ้นไอฮะแอ้ม ๆ แก้มยิ้มเป็นมัน กัดฟันกรอด ๆ หมูคงไม่รอดจอดแน่ละมึง พรานทะลึ่งลุกกวางปืนไว้ พลางกางแขนออกฟ้อน หมูป่าตกใจโดดหายเข้าป่า พรานกล้าใจเสียอดได้หมูเอย6. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง เชียงดาว
          ในอดีตกาลมีนครแห่งหนึ่งนามว่า นครพะเยา กษัตริย์ผู้ครองนครมีราชธิดา 6 องค์ และมีโอรสเป็นองค์สุดท้าย นามว่า เจ้าคำแดง อายุ 16 ชันษา ราชธิดาทุกองค์สมรสหมดแล้วกับเจ้าเมืองต่าง ๆ สำหรับเจ้าคำแดงเป็นผู้กล้าหาญ เข้มแข็งในการสงครามยิ่งนัก ทรงโปรดการออกป่าล่าสัตว์อยู่เสมอ ๆ

          ครั้นหนึ่งมีกองทัพฮ่อยมาล้อมนครพะเยา พระราชาทรงเรียกเขยทั้ง 6 องค์มาถามว่า "ศึกครั้งนี้ใครจะเป็นผู้อาสาออกไปปราบปราม" เขยทั้ง 6 นิ่ง ไม่มีใครกล้าอาสา เพราะทราบว่าศัตรูมีกำลังมากมายและเข้มแข็งยิ่งนัก ดังนั้น พระราชาจึงตรัสเรียกเจ้าคำแดงออกมา เมื่อเจ้าคำแดงทราบเรื่องจึงรับอาสาออกปราบเอง พร้อมด้วยไพร่พลหนึ่งหมื่น

          การรบครั้งข้าศึกได้แตกพ่ายไป เมื่อเจ้าคำแดงได้ชัยชนะก็ยกทัพกลับ ขณะเดินทาง บังเอิญเจ้าคำแดงเห็นกวางทองรูปงามตัวหนึ่ง ก็อยากจะได้เพื่อนำไปถวายพระบิดา จึงสั่งให้พวกทหารเข้าล้อม เมื่อไพร่พลเข้าล้อมอย่างกระชั้นชิดเข้าไปมาก กวางก็ตกใจกระโจนหนีออกทางด้านเจ้าคำแดง ดังนั้น เจ้าคำแดงจึงควบม้าติดตามไปพร้อมด้วยไพร่พล การติดตามใช้เวลาหลายวัน จากนครพระเยาจนเข้าเขตเชียงใหม่ จนเข้าใกล้เขาลูกหนึ่งสูงมาก สูงเทียมดาว ไพร่พลเรียกเขาลูกนี้ว่า "สูงเพียงดาว" ต่อมาชื่อนี้เพี้ยนไปเป็น "เชียงดาว"
          บริเวณเชิงเขาเป็นทุ่งกว้าง กวางทองวิ่งหายไปในป่าหญ้า ต้องใช้เวลาค้นหาเป็นเวลานานบริเวณทุ่งหญ้าตรงนี้ชาวบ้านเรียกว่า "ทุงผวน" (ทุ่งกวางหาย) "ผวน" เป็นคำพื้นเมือง แปลว่า "สับสน" ต่อมาพวกทหารได้มองเห็นแต่ไกล คิดว่าเป็นเนื้อทราย แต่พิจารณาดูดี ๆ จึงรู้ว่าเป็นกวางทอง ตรงบริเวณนี้ชาวบ้านให้ชื่อว่า "บ้านแม่ทลาย"(แม่ทราย) เจ้าคำแดงคงติดตามไปไม่ลดละกวางเห็นจวนตัวจึงถอดคราบกวางทองออกไว้ เรือนร่างภายในกลายเป็นสตรีสาวสวยยิ่งนัก นามว่า "อินทร์เหลา" แล้วหนีต่อไป ทั้งหมดจึงรู้ว่ากวางทองเป็นคน หมู่บ้านที่กวางถอดคราบออกนี้เรียกว่า "บ้านสบคราบ" (สบ ปากทางแพร่)

          อินทร์เหลาหนีขึ้นไปตามลำธารเล็ก ๆ เนื่องด้วยมีเครื่องแต่งกายเพียงเล็กน้อย เจ้าคำแดงที่ติดตามมาอย่างใกล้ชิดเกรงว่านางจะอาย จึงยกมือโบกให้ทหารติดตามมาหมอบราบกับพื้น เพื่อมิให้นางเห็น ตรงนี้เรียกว่า "น้ำแม่แมบ" (แมบ – หมอบ) ต่อมาเพี้ยนเป็นแม่น้ำแมะ นางหนีขึ้นไปถึงบนเนินเขาซึ่งเป็นทางแคบ ๆ ทหารตรูเข้าจะจับตัวนาง แต่เจ้าคำแดงยกมือห้ามไว้ พระองค์จะตามไปเอง พอดีนางอินทร์เหลาหนีเข้าป่าไปได้ หมู่บ้านตรงนี้เรียกว่า "แม่นะ" และเพื่อไม่ให้นางหลบหนีไปได้ เจ้าคำแดงจึงสั่งให้ทหารล้อมไว้พร้อมกับขุดคูกั้นไว้ คูนี้ต่อมาเรียกว่า "คือฮ่อ" (คือ-คู)

          นางอินทร์เหลาจวนตัว จึงพยายามปีนป่าขึ้นเขาได้ เจ้าคำแดงติดตามไปแต่ผู้เดียว และไปพบตัวนางบนเนินเขาเตี้ย ๆ นางจึงถามว่า "มาจับฉันทำไมฉันมีความผิดอะไรหรือ"เจ้าคำแดงตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นราชโอรสของกษัตริย์พะเยา เห็นกวางทองก็อยากจะได้จึงติดตามมา แต่ปรากฏว่ากวางทองตัวนั้นความจริงเป็นนางผู้สวยงาม เกิดรู้สึกรักและอยากจะได้เป็นชายา" นางตอบว่า "หากพระองค์รักข้าพเจ้าจริง ควรจะต้องไปบอกมารดาเสียก่อน ขณะนี้อยู่ในถ้ำ" เจ้าคำแดงเห็นตามคำกล่าว จึงลงมาจากม้าเดินตามนางเข้าไปในถ้ำเพื่อไปหามารดาของนาง ซึ่งมีชื่อว่า "อินทร์ลงเหลา"

          พวกเสนาที่ติดตามมาพบแต่ม้าที่ปล่อยไว้ แลเห็นรอยเท้าทั้งสองหายเข้าไปในถ้ำ พวกเขารออยู่เป็นเวลานานเจ้าคำแดงก็ไม่ออกมา เมื่อเข้าไปดูในถ้ำก็ไปไม่ถูกจึงต้องยกทัพกลับนครพะเยา ชาวบ้านใกล้ ๆ ทราบเรื่องต่างกล่าวว่า เจ้าคำแดงขณะนี้ได้เป็นอารักษ์คุ้มครองดูแลถ้ำขุนเขาลูกนี้ และเรียกเจ้าคำแดงว่า "เจ้าหลวงคำแดง" ทุกวันนี้

          ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          นิทานเรื่องนี้ เป็นการบอกให้เราคนหลัง ๆ ได้ทราบถึงความเป็นมาของสถานที่ที่มีชื่อในถิ่นนั้นและแสดงให้เห็นถึงความ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และความพยายามเป็นอย่างมากจนพบกับความสำเร็จแต่ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับทางไสยศาสตร์เช่นกัน 7. นิทานพื้นบ้านภาคเหนือ เรื่อง อ้ายก้องขี้จุ๊

          ใคร ๆ ในเวลานั้นก็รู้กันว่าอ้ายก้องเป็นคนขี้จุ๊ (มักกล่าวเท็จ) จุ๊ไม่เลือกว่าเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นธุเจ้า (พระสงฆ์) หรือเป็นพระยาเจ้าเมือง เรื่องที่ก้องหลอกพ่อแม่ มีเรื่องเล่าดังนี้

          วันหนึ่งก้องลาพ่อแม่ไปเที่ยวที่ไกล หายหน้าไปหลายวัน พอกลับมาก็เล่าให้พ่อแม่ฟังว่าที่ไปเที่ยวมานั้นม่วน (สนุก) มาก ค้าขายก็ดี พ่อค้าวัวต่างวัวหลัง (ขายดี ของที่บรรทุกหลังวัวมาหมดเกลี้ยง) ทำให้ก้องอยากเป็นพ่อค้าวัวต่างบ้าง ขอให้พ่อช่วยซื้อวัว ซื้อสินค้าให้ แล้วชวนพ่อไปค้ากับตนที่เมืองนั้น พ่อเองทั้งนึกกลัวว่าก้องจะจุ๊เอาอีกอย่างที่แล้ว ๆ มา แต่ก้องก็ยืนยันว่าคราวนี้จะไม่จุ๊แน่นอน ทั้งพ่อก็กำกับไปเองด้วย ไม่ต้องกลัวว่าก้องจะทำเหลวไหลให้เสียเงินเสียทอง พ่อแม่จึงยอมตกลงซื้อวัว ซื้อของบรรทุกไปค้าขายกับก้อง

          เมืองที่ว่าค้าขายดีนั้นดีจริงเหมือนก้องพูด พ่อกับก้องขายของหมด ซื้อไปขายมาได้เงินมากได้กำไรจนเพลินไปเกือบจะไม่ได้ปิ๊กบ้านปิ๊กเมือง (กลับบ้านกลับเมือง) อยู่มาวันหนึ่งก้องเตือนพ่อขึ้นว่า จากบ้านมานานแล้วนึกเป็นห่วงแม่อยากจะกลับไปเยี่ยม พ่อก็เห็นดีด้วย แต่ขณะที่กำลังซื้อขายคล่อง ถ้ากลับไปก็เสียดาย จึงตกลงกันว่าให้พ่อค้าขายอยู่ทางนี้ ให้ก้องกลับไปเยี่ยมแม่คนเดียวเอาเงินเอาทองที่ทำมาหาได้ไปฝากแม่ด้วย

          ก้องรับเงินทองจากพ่อแล้วออกเดินทางไป แต่ไม่ตรงไปหาแม่เดียว เที่ยวไถลไปไหน ๆ จนเงินทองหมดตัวจึงกลับไปหาแม่ พอพบหน้าแม่ก็ทำเป็นเศร้าโศกร้องไห้ฟูมฟายว่าไปมาคราวนี้พาพ่อไปล้มไปตาย ข้าวของสมบัติอะไร ๆ ที่ติดตัวไปก็ล่มหมด พ่อตายทำบุญให้แล้วก็รีบกลับมากาแม่นี่แหละ อู้ (พูด) อย่างนี้แล้วก็แนะแม่ว่า เวลานี้พ่อก็หาไม่แล้ว (ตาย) ควรขายบ้านเก่าเสียแล้วย้ายไปเมืองอื่นที่ทำมาหากินได้ดีกว่าเมืองนี้

          ก้องจะอยู่ช่วยแม่ค้าขาย ไม่จากแม่ไปไหนอีกแล้ว แม่กำลังเศร้าโศกเสียใจก็ตกลงทำตามที่ก้องแนะนำ ขายบ้านเก่าแล้วย้ายมาอยู่ที่ใหม่แล้วแม่ก็ยังไม่หายเสียใจ ร้องไห้คิดถึงพ่ออยู่เสมอ ก้องจึงปลอบแม่ว่า "แม่อย่าร้องไห้เสียใจไปนักเลย ไหน ๆ พ่อก็ตายไปแล้ว นึกหาเอาใหม่ก็แล้วกัน" แม่ตอบว่า "จะหาคนเหมือนพ่อไม่ได้แล้ว ถ้าได้อย่างพ่อก็จะเอาใหม่" ก้องจึงบอกแม่ว่า "ถ้าต้องการอย่างนั้นก็บ่ยาก แต่ก่อนเมื่อข้าเที่ยวไป ข้าปะพ่อชายคนหนึ่งเหมือนพ่อไม่ผิดกันเลย ข้าจะไปชักมาให้แม่"

          ครั้นแล้วก้องก็ลาแม่ไป กลับไปหาพ่อที่คอยฟังข่าวอยู่ ก้องพบพ่อทำเป็นร้องไห้รำพันร่ำไรว่ากลับไปบ้านนี้เคราะห์ร้ายมาก ไม่ได้พบหน้าแม่ แม่ตายเสียแล้วตั้งแต่ยังค้าขายกันอยู่ บ้านช่องก็เสียหายเป็นของเขาอื่นไปแล้ว พ่อได้ยินว่าแม่ตายเสียแล้วอย่างนั้นก็เสียใจมาก ร้องไห้คิดถึงแม่อยู่หลายวัน วันหนึ่งก้องได้ช่อง (ได้โอกาส) ก็เข้าไปปลอบพ่อว่า "พ่ออย่าร้องไห้ไปเลย เมื่อก่อนที่ข้าเที่ยวไป ข้าปะหญิงคนหนึ่งเหมือนแม่ไม่มีผิด เมื่อพ่ออยากเห็นข้าจะพาไปที่บ้าน"
          ก้องชักพ่อมาหาแม่ที่เมืองที่แม่ย้ายมาอยู่ใหม่ แล้วรีบหนีไปเที่ยวเสียที่อื่นต่อไป พ่อแม่พบกันนึกว่าเป็นพ่อชาย แม่หญิง ที่เหมือนคู่เก่าของตนที่ตายไปแล้ว ก็ดีใจมาก ตกลงอยู่กินกันต่างคนต่างนึกว่าตนได้คู่คนใหม่

          อยู่มาวันหนึ่ง แม่บ่นถึงก้องว่าหายไปนานแล้วไม่กลับ ไปเที่ยวจุ๊อยู่ที่บ้านไหนก็ไม่รู้ พ่อได้ยินออกชื่อก้องก็สงสัย ซักถามกันขึ้น ก็ความแตกว่าต่างคนมีลูกชื่อก้องขี้จุ๊คนนั้นเอง ลูกหลอกให้มาได้กันเหมือนได้ผัวใหม่เมียใหม่

          ส่วนที่ก้องจุ๊ธุเจ้านั้น มีเรื่องเล่าว่า อาจารย์เจ้าวัดหนึ่งเป็นคนขี้หวง ถึงหน้าต้นไม้ในวัดออกลูกออกผล อาจารย์ก็ป้องกันแข็งแรงกลัวว่าใครจะมาขอมาขโมย คราวหนึ่งมะม่วงในวัดออกลูกมากมาย คนในวัดและชาวบ้านแถวนั้นรู้ดีว่าเจ้าวัดหวงมาก ถึงอย่างไร ๆ ก็คงไม่ยอมให้มะม่วงใคร ก้องอยากลองดีจึงบอกกับพ่อว่าฉันจะเอามะม่วงในวัดมาให้พ่อกินให้ได้ พ่อก็หัวเราะประมาทหน้า แน่ใจว่าเอาของท่านมาไม่ได้

          ก้องท้าพนันกับพ่อว่า ถ้าเอามาได้พ่อจะให้เท่าไร พ่อบอกว่าได้มะม่วงมาลูกหนึ่งจะให้พันตำลึงทอง ก้องจึงรับรอง่าถ้าได้พันตำลึงทองจะเอามาให้พ่อตะกร้าใหญ่ ไม่ต้องนับว่ากี่ลูก แล้วก็แต่งตัวโอ่โถง ลงเรือหายหน้าไป ๒ – ๓ วัน พ่อก็ไม่รู้ว่าก้องไปไหนพอกลับมาก้องรีบมาที่วัดเข้าไปเคารพอาจารย์เจ้าวัด แล้วบอกว่า "ข้าพเจ้าเป็นคนรับคำสั่งท่านพญาเจ้าเมืองให้มาตรวจดูสถานที่ในวัดท่านจะมาแปง (สร้าง) หอหลวง ท่านให้มาถามอาจารย์ก่อนว่าจะยอมอนุญาตให้สร้างหรือไม่" อาจารย์เจ้าวัดเห็นก้องแต่งตัวภูมิฐาน ท่าทางดี นึกว่าพญาเจ้าเมืองใช้ให้มาจริง ๆ ก็บอกอนุญาตให้ก้องเที่ยวเดินไปทั่ววัดตรวจไปพลางเอาเชือกเที่ยววัดตรงนั้นตรงนี้ทำท่าเหมือนจริง ครั้นวัดและจดได้เสร็จแล้ว ก็บ่นดัง ๆ ให้เจ้าวัดได้ยินว่า "สะดายสะดาย ( เสียดาย ) มะม่วงต้องตัด หอหลวงนี้ใหญ่โตมาก กินที่ไปถึงต้นมะม่วงพวกนี้ด้วย" อาจารย์เห็นวาได้หอหลวงใหญ่ถึงจะตัดมะม่วงสักต้นก็ยอม และเมื่อไหน ๆ จะตัดมะม่วงอยู่แล้ว ก้องจะเก็บเอาลูกไปบ้างก็ได้ไม่หวงเอาไว้เหมือนแต่ก่อน ทั้งก้องก็เป็นคนที่จะไปนำพญาเจ้าเมืองมาแปงหอหลวงในวัดนี้ จึงให้ก้องเก็บมะม่วงเอาไปตะกร้าหนึ่ง ก้องเอามะม่วงไปให้พ่อ พอร้องทวงตำลึงทองตามที่พ่อสัญญาไว้ พ่อกลับร้องด่าเอาว่า "มึงรู้จักจุ๊ธุเจ้าเอามะม่วงมาได้ กูไม่รู้จักจะจุ๊ใคร จะเอาคำที่ไหนมาหื้อ (ให้) มึงตั้งพัน"

          ส่วนเรื่องที่ก้องจุ๊พญาเจ้าเมือง มีว่า พญาเจ้าเมืองรู้ว่าก้องเป็นคนขี้จุ๊ ใคร ๆ ก็เสียรู้ นึกอยากลองปัญญา จึงให้คนไปหาตัวมาเฝ้าแล้วท้าให้จุ๊ตัวบ้างดูว่าตนจะหลงเชื่อเสียรู้ก้อง หรือไม่ ก้องก็รับปากว่าจะลองดู แล้วทูลขอเอาไว้ก่อนล่วงหน้าว่าอย่าเอาโทษตนเป็นอันขาด ไม่ว่าตนจะทำให้พญาเสียรู้สักแค่ไหน เจ้าเมืองก็รับคำแล้วบอกให้ก้องเริ่มได้ แต่ก้องบอกว่าจะจุ๊เจ้าเมืองในวังไม่ได้ ต้องออกไปข้างนอกไกล ๆ แล้วพาเจ้าเหนือหัวเดินออกไปนอกเมืองไกลจนถึงบวก (หนองน้ำ) แห่งหนึ่ง แล้วทูลขอให้เจ้าเมืองลงไปยืนในหนองน้ำนั้น ตนจะจุ๊ให้ขึ้นจากหนองน้ำให้ได้ พญาเจ้าเมืองก็ลงไปในหนองน้ำแล้วตั้งใจว่าก้องจะจุ๊อย่างไรก็ไม่ยอมขึ้น

          พอเจ้าเหนือหัวลงไปอยู่ในหนองเรียบร้อยแล้ว ก้องก็ร้องทูลว่า "ข้าพเจ้าจุ๊ให้ท่านเดินออกจากวังมานอกเมืองไกลแค่นี้แล้ว ส่วนที่จุ๊ให้ลงไปอยู่ในน้ำนั้นจะขึ้นหรือไม่ก็ตามพระทัยเถิด" ก้องกล่าวดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลากลับไปเสียเฉย ๆ พญาเจ้าเมืองก็รู้ว่าเสียท่าก้องเสียแล้ว และตั้งแต่เสียรู้ก้องวันนั้นแล้วก็ผูกใจเจ็บอยู่เสมอ วันหนึ่งจึงให้ไปจับก้องลงโทษ ให้เอาใส่หีบไม้ล่อ (โผล่) แค่คอแล้วแขวนเอาไว้บนต้นไม้ริมแม่น้ำใกล้ทางหลวง แขวนประจานเอาไว้เจ็ดวันให้คนทั้งหลายดูหน้าคนบังอาจจุ๊เจ้าเหนือหัว เมื่อครบเจ็ดวันแล้ว จะให้โค่นต้นไม้ตกแม่น้ำไปให้ก้องจมน้ำตายอยู่ในหีบไม้ใบนั้น

          ผู้คนก็พามาดูอ้ายก้องขี้จุ๊กันมากมาย ในเย็นที่ก้องจะต้องตายนั้น เผอิญอ้ายเงี้ยวตาฟางคนหนึ่งเดินงุ่มง่ามมา ก้องแลเห็นแต่ไกลก็ดีใจมาก ร้องเรียกให้เข้ามาใกล้ ๆ เงี้ยวตาฟางจึงถามว่าก้องเป็นใคร ก้องบอกว่าตนเป็นคนตาบอด หมอรักษาตาเอาใส่หีบแขวนไว้ เวลานี้ตาหายแล้วเห็นดีแล้ว เงี้ยวตาฟางอยากตาดีบ้าง จึงขอให้ก้องช่วยเอาตัวใส่หีบแขวนไว้ เงี้ยวจึงช่วยก้องออกมาแล้วเข้าไปอยู่ในหีบแทน ครบกำหนดเจ็ดวัน เพชฌฆาตก็มาโค่นต้นไม้ เงี้ยวตาย ส่วนก้องพ้นตายไปได้ แล้วก็ไปเฝ้าเจ้าเมือง เจ้าเมืองแปลกใจว่าเหตุใดก้องตากน้ำแล้วยังไม่ตาย

          ก้องจึงกุเรื่องขึ้นเล่าว่า "ตกน้ำไปจริงแต่ไม่ตาย ได้ไปเที่ยวถึงเมืองพญานาค เมืองนั้นสนุกสนานมาก มีแต่ผู้หญิงงาม ๆ ทั้งเมือง ไม่มีผู้ชายเลย" แล้วขยายเรื่องจนเจ้าเมืองอยากไปบ้าง ขอให้ก้องช่วยจัดการให้ได้ไปเที่ยวถึงเมืองพญานาค ก้องจึงเอาเจ้าเมืองใส่หีบทิ้งน้ำ เป็นอันว่าพญาเจ้าเมืองไม่ได้กลับมาครองบ้านเมืองอีกต่อไป

          ส่วนก้องกลับมาเฝ้านางเทวี ชายาเจ้าเมือง เล่าว่าเจ้าเมืองไปอยู่เมืองพญานาค มีความสุขสนุกสนาน ไม่ยอมกลับบ้านเมืองอีกแล้ว มอบให้ก้องเป็นพญาแทน ส่วนเจ้านางเทวีนั้น พญาสั่งว่าอย่าให้เอาผู้ใดเป็นผัวนอกจากก้อง อ้ายก้องขี้จุ๊ก็ได้เป็นพญาแต่นั้นมา